วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2550

ไฟฉายกับมีดพร้า

........วันนี้ (10 กันยายน 2550) เป็นวิทยากรให้การอบรมครู "การออกแบบและสร้างสื่อการเรียนการสอนสำหรับครูปฐม" ที่จริงหลักสูตรนี้ต้องใช้เวลาถึง4-5วัน แต่บังเอิญผู้จัดมีเวลาให้เพียง 2 วัน เลยต้องรวบรัดตัดตอนเพื่อให้การอบรมบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่สอนก็จะแทรกความรู้และความรู้สึกเพื่อนให้ข้อคิดกับผู้เข้ารับการฝึกอบรมตลอดเวลา
........อุปกรณ์ที่จำเป็นในการเดินทางในโลกมืดได้แก่ ไฟฉายและมีดพร้า ไฟฉายใช้ในการสาดแสงส่องทางให้มองเห็นทางเดิน ส่วนมีดพร้าใช้เพื่อการแผ้วถางทางเดินให้ลุโล่งปราศจากอุปสรรคขวากหนามใดใด หากขาดอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งไปการเดินทางในโลกมืดจะเป็นไปอย่างทุลักทุเล
........ไฟฉายกับมีดพร้าเป็นอุปมาอุปมัยในธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ การเรียนรู้ใดๆที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยสมบูรณ์นั้นย่อมประกอบด้วย2ภาคส่วนได้แก่ การเรียนรู้ภาคทฤษฎี กับ การเรียนรู้ภาคปฏิบัติ ภาคทฤษฎีเปรียบเสมือนไฟฉายที่สาดแสงส่องทางให้เรารู้ว่าควรเลือกสิ่งใดสถานการณ์ใดในการปฏิบัติงานหรือการดำเนินชีวิต ส่วนภาคปฏิบัติเปรียบเสมือนมีดพร้าที่ใช้ในการลงมือทำงานตามหลักการหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง บุคคลใดที่มีการเรียนรู้ทั้งสองภาคส่วนนี้อยู่ในตนเองจะช่วยให้การแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตหรือประกอบวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้ามการเรียนรู้เพียงด้านใดด้านหนึ่ง เช่น การเรียนรู้เชิงทฤษฎีที่ขาดการเชื่อมโยงกับกระบวนการปฏิบัติหรือผลผลิตอาจก่อให้เกิดปัญหาอันเกิดจากความไม่สัมพันธ์ของทฤษฎีกับปัจจัยอื่นๆในภาคปฏิบัติ ในทำนองเดียวกันการเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติที่ขาดพื้นฐานความรู้หรือทฤษฎีเกี่ยวกับงาน นั้นๆ อาจก่อให้เกิดปัญหา ทำให้เสียเวลาในการลองผิดลองถูก ขาดทางเลือกหลากหลายที่สาดส่องทิศทางด้วยทฤษฎี
........ด้วยเหตุนี้การดำเนินชีวิตหรือการเรียนรู้ที่สมบูรณ์จึงควรประกอบด้วยไฟฉายอันเปรียบเสมือนการเรียนรู้ภาคทฤษฎี และมีดพร้าซึ่งเปรียบเสมือนการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ นั่นเอง

หินทรายกับปลายเข็ม

........การให้ความหมายหรือคำนิยามเหตุการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ จะช่วยให้เราเรียนรู้และเข้าใจสิ่งนั้นอย่างลึกซึ้งและสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจ เห็นภาพ และคล้อยตามไปด้วย การฝึกสังเกตบริบท การคิดวิเคราะห์ การเชื่อมโยง การเปรียบเทียบองค์ประกอบและโครงสร้างเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถตีความเพื่อให้ความหมายหรือคำนิยามกับสิ่งต่างๆ นั้นได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ดังตัวอย่างต่อไปนี้
........1. ไป กับ มา องค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาคือ ตำแหน่ง กับ ทิศทาง เช่น ไป คือการเคลื่อนที่ออกจากจุดเริ่มต้น ณตรงนี้มุ่งสู่จุดหมายอื่นที่อยู่ห่างไกล ส่วนคำว่า มา คือการเคลื่อนที่ออกจากจุดเริ่มต้นมุ่งหน้าสู่จุดหมาย ณ ตรงนี้
........2. สูง กับ ลึก องค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาคือ ตำแหน่ง กับ ทิศทาง เช่น สูง คือระยะทางจากด้านล่างถึงจุดหมายที่กินพื้นที่ขึ้นไปในอากาศด้านบน ส่วนคำว่า ลึก คือระยะทางจากด้านบนถึงจุดหมายที่กินพื้นที่ลงไปด้านล่างของดินหรือน้ำ
........3. เดิน กับ วิ่ง องค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาคือ เวลา กับ การเคลื่อนที่ เช่น วิ่ง คือการเคลื่อนที่ไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งด้วยการก้าวขาไปหลาย ๆ ก้าวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ส่วนคำว่า เดิน คือการเคลื่อนที่ไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งด้วยการก้าวขาไปหลายๆ ก้าวอย่างช้าและต่อเนื่อง
ท่านเห็นว่าการฝึกฝนการสังเกต หรือการคิดวิเคราะห์เพื่อการกำหนดคำนิยามหรือการให้ความหมายเช่นตัวอย่างนี้มีประโยชน์หรือไม่อย่างไร ช่วยแสดงความคิดเห็นหรือแก้ไขคำนิยามทั้ง 3 ข้อได้เลยนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2550

ความพอเพียง


........ความพอเพียง ฟังดูเป็นคำพื้นๆเรียบง่ายแต่ผลของความพอเพียงเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล เป็นกฎแห่งความอยู่รอดอย่างยั่งยืน คำว่า พอเพียง มีเครือข่ายคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันหลายคำเช่น พอดี พอเหมาะพอสม พอควร คำเหล่านี้เมิ่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันแล้วจะก่อให้เกิดสภาวะของความสมดุล ความเป็นกลาง ความเอื้อาทร "ความพอเพียง" แม้เป็นคำที่ดูเรียบง่ายแต่มีพลังที่ให้ประโยชน์ไม่เพียงแต่ทางกายภาพเท่านั้นแต่ส่งผลต่อทางจิตใจหรือความรู้สึกด้วย
........ความพอเพียงเป็นกฎที่ถอดบทเรียนมาจากกฎธรรมชาติ ซึ่งเป็นกฎแน่นอนตายตัวเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ตามกฎของธรรมชาติกำหนดไว้ว่าสรรพสิ่งต้องพึ่งพิงซึ่งกันและกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แต่การอาศัยพึงพิงกันต้องเป็นไปอย่างสมดุลคือไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป ไม่หนักหรือเบาไปด้านใดด้านหนึ่ง ควรให้เหมาะสมเป็นประโยชน์อย่างสมดุลทั้งสองฝ่ายหรือทั้งกลุ่ม
........ในทางปฏิบัติความพอเพียงเป็นเครื่องมือที่จะนำพาไปสู่ความสุขได้อย่างถาวร สามารถป้องกันและขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งอกุศลมูลอันได้แก่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งเป็นเชื้อโรคอันตรายร้ายแรงทางจิตใจมนุษย์ โรคร้ายเหล่านี้สามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยพฤติกรรมหรือยา "พอเพียง" หากเชื้อโรคร้ายแรงอาจใช้ยาตำรับโดยเพิ่ม "พอดี พอควร" เข้าไปอีกก็ได้
........ความพอเพียงเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับบริบทอื่นๆอีกมาก ทำให้แต่ละคนมีความเข้าใจแตกต่างกัน หลายคนมองเห็นความพอเพียงเป็นเรื่องของความเฉยๆไม่กระตือรือร้น หลายคนมองเป็นความขัดแย้งกับการพัฒนาโดยเฉพาะในวงการเทคโนโลยีสมัยใหม่ หลายคนมองเป็นเรื่องของการประหยัด และอีกนานาทัศนะมากมาย อย่างไรก็ตามการเข้าใจและเข้าถึงความหมายของความพอเพียงและสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต้องอาศัยกระบวนการทางปัญญาเป็นสำคัญ